ในตอนที่ 2 ของพื้นฐานระบบปฏิบัติการเครือข่ายนี้จะพูดถึง เรื่อง การบริการต่าง ๆ ของระบบเครือข่าย บริการต่าง ๆ ของระบบเครือข่ายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ใช้งานต้องพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมของระบบงาน ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 6 หัวข้อดังนี้
บริการต่าง ๆ ของระบบเครือข่าย
- บริการจัดเก็บไฟล์ และการพิมพ์ (File and Services)
การแชร์ไฟล์และเครื่องพิมพ์ ถือได้ว่าเป็นจุดประสงค์หลักของการสร้างระบบเครือข่าย ดังนั้นฟังก์ชันนี้จึงเป็นส่วนที่สำคัญ ของระบบปฏิบัติการเครือข่าย บริการจัดเก็บไฟล์และการพิมพ์ของระบบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการเครื่องพิมพ์ ความสามารถในการจัดการเกี่ยวกับ พื้นที่เก็บไฟล์ที่แชร์ ระหว่างผู้ใช้รวมถึงระบบควบคุมการเข้าใช้ทรัพยากรเหล่านี้ด้วย
- บริการดูแลและจัดการระบบ (Management Services)
การจัดการเครือข่ายถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เช่น การจัดการเกี่ยวกับผู้ใช้(User Accounts) คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครือข่าย การรายงานเกี่ยวกับข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเครือข่าย และการเฝ้าดูระบบเครือข่ายเพื่อทราบถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและสามารถแก้ไขได้ทันเวลา หรือก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งเครือข่ายีขนาดใหญ่ยิ่งจะทำให้หน้าที่ของผู้ดูแลระบบซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นระบบปฏิบัติการเครือข่ายจำเป็นต้องมีฟังก์ชั่นที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนของงานเหล่านี้ ปัจจุบันระบบปฏิบัติการสมัยใหม่จะใช้ไดเร็คทอรีเข้ามาช่วย เช่น เน็ตแวร์ก็จะมี NDS Directory (Novell Directory Services Directory) หรือถ้าเป็นวินโดวส์ 2003 ก็จะมี ADS (Active Directory Services) เป็นค้น เครื่องมือนี้จะช่วยให้การจัดการเครือข่ายง่ายยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับเครือข่ายขนาดใหญ่
- บริการรักษาความปลอดภัย (Security Services)
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่าย ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันเนื่องจากถ้าระบบถูกทำลาย ความเสียหายอาจมากเกินกว่าที่คิดไว้ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบางประเภทที่มีความต้องการความปลอดภัย เช่น ข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทหรือองค์กร การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่มีสิทธิเท่านั้น ดังนั้นระบบปฏิบัติการเครือข่ายควรมีฟังก์ชั่นที่สามารถแยกแยะผู้ใช้ โดยสามารถกำหนดสิทธิ์ให้กับผู้ใช้หรือกลุ่มของผู้ใช้ได้
- บริการอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ต (Internet/Intranet Services)
ปัจจุบันการให้บริการอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ตถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับองค์กร ระบบปฏิบัติการเครือข่ายต้องมีฟังก์ชั่นที่ให้บริการด้านนี้ด้วย บริการที่กล่าวนี้คือ ดีเอ็นเอสเซิร์ฟเวอร์ , เว็บเซิร์ฟเวอร์ , เมลเซิร์ฟเวอร์ , เอฟทีพีเซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการเว็บ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่สะดวกต่อการใช้งานฝั่งไคลเอนท์ เพียงแค่มีโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ เช่น อินเตอร์เน็ตเอ็กซ์พลอุเรอร์ (IE) หรือเน็ตสเคป (Netscape) ก็สามารถใช้งานได้แล้วและในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มไปทางอินเตอร์เน็ตมาก ดังนั้นระบบปฏิบัติการเครือข่ายควรให้บริการด้านนี้ด้วย
- บริการมัลติโพรเซสซิ่ง และคลัสเตอร์ริ่ง (Multiprocessing and Clustering Services)
ประสิทธิภาพในการให้บริการของเซิร์ฟเวอร์และความเชื่อถือได้หรือความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่องก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะกับระบบธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลการที่เซิร์ฟเวอร์หยุดให้บริการเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็อาจทำให้ธุรกิจเสียหายอย่างที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ประสิทธิภาพในการให้บริการของเซิร์ฟเวอร์นั้นจะขึ้นอยู่กับทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ความท้าทายของความสามารถในการขยายระบบ (Scalability) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำให้ระบบมีความเชื่อถือสูง (High Availability) องค์กรต้องสามารถเพิ่มสมรรถนะของแอพพลิเคชั่นหรือทรัพยากรของเครือข่ายเมื่อจำเป็นได้โดยไม่มีผลทำให้ระบบต้องหยุดชะงัก การเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบและประสิทธิภาพในการให้บริการสามารถทำได้ 2 วิธีคือ มัลติโพรเซสซิ่ง (Multiprocessing) และคลัสเตอร์ริ่ง (Clustering)
- บริการอื่น ๆ (Other Services)
ติดตามตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง พื้นฐานระบบปฏิบัติการเครือข่าย ได้ในเร็วนี้จ้า...
CHUMMY - ONLINE ขอบคุณ อ.ธนวัฒน์ ถาวรกูล
ขออภัยถ้าหากมีความผิดพลาดทางตัวอักษรจากบทความที่เขียนขึ้น CHUMMY – ONLINE.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
กรุณาพิมพ์ข้อความที่สุภาพ